วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ครั้งที่7
วันที่ 28 กันยายน พ.ศ 2563

ความรู้ที่ได้รับ

วันนี้อาจารย์ได้ให้นักศึกษาออกมานำเสนอหัวข้อที่ได้จัลฉลากไว้สัปดาห์ที่แล้ว มีทั้งหมด 6 รูปแบบดังนี้
1.รูปแบบการเรียนการสอนตามแนวไฮสโคป
2.รูปแบบการเรียนการสอนแบบโครงการ
3.รูปแบบการเรียนการสอนมอนเตสซอรี่
4.รูปแบบการเรียนการสอนสืบเสาะหาความรู้
5.รูปแบบการเรียนการสอน STEM
6.รูปแบบการเรียนการสอนแบบวอลดอร์ฟ

💖รูปแบบการเรียนการสอนตามแนวไฮสโคป💖

แนวคิดพื้นฐาน

     การสอนแบบไฮ/สโคป มีพื้นฐานแนวคิดมาจากทฤษฎีของเพียเจท์ (Piage’s Theory)ว่าด้วยพัฒนาทางสติปัญญา ที่เน้นการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติที่เด็กสามารถสร้างความรู้ได้เองโดยใช้กระบวนการสร้างสรรค์การเรียนรู้ (Constructive process of learning) เด็กจะเรียนรู้จากการกระทำของตน การประเมินผลงานอย่างมีแบบแผน ช่วยให้เด็กเกิดความรู้ขึ้น  เด็กสามารถสร้างความรู้ได้จากประสบการณ์ที่มีความหมาย ซึ่งจากแนวคิดนี้ ในการเรียนเด็กสามารถเลือกเรียนเลือกปฏิบัติจัดกระทำดำเนินการเรียนรู้และประเมินผลงานของตนเอง  เด็กจะได้รับการกระตุ้นจากครูให้คิดนำอุปกรณ์มากระทำหรือเล่นด้วยการวางแผนการทำงาน แล้วดำเนินตามแผนไว้ตามลำดับพร้อมแก้ปัญหาและทบทวนงานที่ทำด้วยการทำงานร่วมกันกับเพื่อนเป็นกลุ่มเล็กๆ โดยมีครูคอยให้กำลังใจ  ถามคำถาม สนับสนุน และเพิ่มเติมสิ่งที่เด็กต้องเรียนรู้

แนวคิดสำคัญ

        แนวการสอนแบบไฮ/สโคปเน้นการเรียนรู้แบบลงมือกระทำผ่านมุมเล่นที่หลากหลาย  ด้วยสื่อและกิจกรรมที่เหมาะสมกับการพัฒนาการของเด็กและการแก้ปัญหาอย่างกระตือรือร้น

การเรียนการสอน

การเรียนการสอนแบบไฮ/สโคป เป็นการสร้างองค์ความรู้จากการที่เด็กได้ลงมือจัดกระทำกับอุปกรณ์ หรือสิ่งแวดล้อมซึ่งถือเป็นประสบการณ์ตรง  โดยที่ครูจะเป็นคนเตรียมอุปกรณ์ให้กับเด็กและกระตุ้นให้เด็กพัฒนาและดำเนินกิจกรรม โดยใช้หลักปฏิบัติ 3  ประการ  คือ

-             การวางแผน ( Plan ) เป็นการกำหนดแนวทางการปฏิบัติหรือดำเนินงานตามที่ได้รับมอบหมาย  มีการสนทนาระหว่างครับเด็ก  ว่าจะทำอะไร อย่างไร  การวางแผนกิจกรรมอาจจะใช้แสดงด้วยภาพหรือสัญลักษณ์ประจำตัวเด็ก  เป็นกระบวนการที่เด็กมีโอกาสเลือก และตัดสินใจ

-              การปฏิบัติ ( Do ) คือการลงมือกระทำตามแผนที่วางไว้  เป็นส่วนที่เด็กได้ร่วมกันคิด แก้ปัญหา  ตัดสินใจและทำด้วยตนเอง  เป็นส่วนที่เด็กได้มีการพัฒนาการพูดและปฏิสัมพัธ์ทางสังคมสูง

-              การทบทวน ( Review ) เป็นช่วงที่ได้งานตามจุดประสงค์  ช่วงนี้จะมีการอภิปรายและเล่าถึงผลงานที่เด็กทำเพื่อทบทวนว่า เด็กสามารถปฏิบัติตามแผนที่วางไว้หรือไม่  มีการเปลี่ยนแปลงแผนอย่างไร  และชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างแผนกับการปฏิบัติ  และผลงานที่ทำ รวมถึงการเล่าประสบการณ์ต่างๆ ที่ได้รับ

            การที่เด็กได้ลงมือทำงามหรือกิจกรรมด้วยความสนใจ  จะทำให้เด็กสนุกกับการทกงาน  การทำตามขั้นตอนอย่างเป็นระบบ ผลงานที่เกิดขึ้นนับเป็นความสำเร็จของเด็กในการลงมือทำกิจกรรมกับเพื่อนอย่างมีความสุข

            ครู คือบุคคลที่จะช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ  หากรูปแบบการเรียนการสอนที่มีความสอดคล้องภาวะการเรียนรู้ของเด็กและครูมีความเข้าใจในรูปแบบการเรียนการสอน ก็จะเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ที่ดีให้กับเด็กมากยิ่งขึ้น

💖รูปแบบการเรียนการสอนแบบโครงการ💖

การสอนแบบโครงการเป็นการจัดการเรียนการสอนที่มีลักษณะสำคัญดังนี้

ความคิดพื้นฐานเชื่อว่า การเรียนรู้ของเด็กมาจากการกระทำ เด็กเป็นผู้ที่ต้องพัฒนา มีความคิด มีความมุ่งหมาย ความต้องการที่จะเรียนรู้ทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นของตนเองต้องพึ่งตนเอง การสอนแบบโครงการมุ่งพัฒนาทางร่างกายและจิตใจของเด็กไปพร้อมกัน

วิธีจัดการเรียนการสอนมี 4 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 เริ่มต้นโครงการ เด็กจะร่วมกันคิดเรื่องที่สนใจ

ระยะที่ 2 ระยะวางแผนโครงการ เป็นช่วงเวลาที่กำหนดจุดประสงค์ว่าต้องการเรียนรู้อะไร กำหนดขอบเขตเนื้อหา ระยะเวลาและวิธีการศึกษา

ระยะที่ 3 ดำเนินโครงการตามที่กำหนดไว้ ที่เน้นระบวนการแก้ปัญหา จัดเป็นหัวใจของการสอนแบบโครงการ เพราะเด็กจะได้รับข้อมูลใหม่จากประสบการณ์ตรงหรือเป็นแหล่งข้อมูลพื้นฐานเพราะเด็กได้สนทนา พูดคุยกับบุคคล และสืบค้นจากแหล่งเรียนรู้ ขณะเดียวกันเด็กสามารถค้นความรู้จากแหล่งข้อมูลรอง (Secondary Sources) เช่น การดูวีดีทัศน์ การอ่านหนังสือ เป็นต้น

ระยะที่ 4 สรุปโครงการ ครูและเด็กร่วมวางแผนสรุปโครงการ เป็นขั้นตอนการประเมินโครงการ ทบทวนการปฏิบัติ และวางแผนโครงการใหม่ วิธีการสรุปโครงการอาจจะให้เด็กนำผลงานที่ได้รับมอบหมายมาแสดงต่อครูแล้วอภิปรายประเด็นปัญหา หรือให้เด็กนำเสนอผลงาน ในรูปของการจัดแสดง จัดเป็นนิทรรศการ หรือสาธิตผลงาน

มีกิจกรรมหลักในโครงการ 4 กิจกรรมคือ กิจกรรมสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในชั้นเรียน กิจกรรมทัศนศึกษา กิจกรรมสืบค้น และกิจกรรมนำเสนอผลงาน

กิจกรรมสืบค้นมีหลากหลายได้แก่ การรวบรวมข้อมูลที่ได้จากการสังเกต การสัมภาษณ์ การปฏิบัติทดลอง การรวบรวมเอกสาร การรายงาน การจัดแสดงผลงานที่ได้จากโครงการ เป็นต้น

เรื่องที่จะเรียนมาจากความสนใจของเด็กที่ต้องการเรียนอย่างลุ่มลึก เด็กจึงเป็นผู้วางแผนและร่วมคิด ร่วมมือสืบค้นกับผู้อื่น ครูเป็นผู้สนับสนุน สังเกตและอำนวยความสะดวก หากเรื่องนั้นมีความเป็นไปได้ มีแหล่งข้อมูลเพียงพอ พ่อแม่และชุมชนมีความพร้อมที่จะร่วมมือ

ทักษะการเรียนรู้หนังสือจำนวน ให้บูรณาการในหัวเรื่องโครงการ รวมทั้งวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษา ดังนั้น หัวเรื่องหนึ่งที่เด็กสนใจเรียนรู้นั้นต้องมีเวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์และควรสำรวจที่โรงเรียนเหมาะกว่าที่บ้าน

การสอนแบบโครงการมีประโยชน์ต่อเด็กปฐมวัย

การจัดการสอนแบบโครงการเป็นที่สนใจของนักการศึกษาจึงได้นำไปใช้และวิจัยสรุปถึงประโยชน์ที่มีต่อเด็กดังนี้

-เด็กจะเห็นคุณค่าของตนเอง เป็นแนวทางให้เด็กพึ่งพาตนเองได้

-ส่งเสริมให้เด็กมีโอกาสที่จะประยุกต์ใช้ทักษะที่มีอยู่

-เด็กเกิดแรงจูงใจภายในและความสามารถที่เกิดจากตัวเด็กเองในงานและกิจกรรมที่ทำ

-เด็กรู้จักตัดสินใจว่าควรทำอะไร และผู้ใหญ่ยอมรับในความต้องการของเด็ก

-เด็กสามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง อย่างมีความสุข สนุกสนานเพราะเด็กได้เรียนในสิ่งที่ตนเองสนใจ รู้จักประยุกต์ใช้ความรู้

-ส่งเสริมให้เด็กมีวิธีการทำงานอย่างมีแบบแผน

-สามารถนำรูปแบบการสืบค้นความรู้ไปใช้ได้ในชีวิตจริง

-สร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนและครอบครัว เนื่องจากการสอนแบบโครงการ พ่อแม่ ผู้ปกครองจะต้องร่วมมือกับครูสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กทุกรูปแบบ


รูปแบบการเรียนการสอนมอนเตสซอรี่

การสอนแบบมอนเตสซอรี่ (Montessori)

  เป็นแนวคิดที่เน้นเด็กเป็นหลักสำคัญในการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้เด็กสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองได้อย่างอิสระ และซึมซับการเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัว ทำให้เด็กเกิดความอยากรู้ อยากเห็นและแสวงหาความอยากรู้อย่างมีสมาธิ มีวินัยในตัวเองและเกิดพัฒนาการทุก ๆ ด้านในเวลาเดียวกัน

หลักการสอนของมอนเตสซอรี่

  เด็กได้รับการยอมรับนับถือ เพราะเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน เด็กจึงควรได้รับการยอมรับในลักษณะเฉพาะของตัวเอง คุณครูควรจัดกิจกรรมพัฒนาให้เด็กแต่ละคนตามความสามารถ และพัฒนาการความต้องการตามธรรมชาติของเด็กในแต่ละช่วงวัยจิตซึมซับ เด็กมีจิตแห่งการหาความรู้ที่เปรียบเสมือนฟองน้ำ โดยเด็กจะซึมซับเอาข้อมูลต่าง ๆ จากสิ่งแวดล้อมเข้าไปในจิตของตัวเองช่วงเวลาหลักของชีวิต เด็กแรกเกิดจนถึง 6 ปี เป็นช่วงเวลาสำคัญที่สุดสำหรับการเรียนรู้ของการพัฒนาด้านสติปัญญาและจิตใจ ในช่วงเวลานี้ เด็กควรมีอิสระในการเลือกกิจกรรมที่ตัวเองสนใจการเตรียมสิ่งแวดล้อม เด็กจะได้รับการพัฒนาให้เกิดการเรียนรู้ได้ดีที่สุด จากการจัดสภาพแวดล้อมที่มีความพร้อมอย่างมีระบบและมีจุดมุ่งหมายไปตามขั้นตอน โดยมีสื่ออุปกรณ์มอนเตสซอรี่เป็นตัวกำหนดขอบเขตในการทำงาน การศึกษาด้วยตัวเอง เด็กได้รู้จักเรียนรู้ระเบียบวินัยของการอยู่ร่วมกันภายในสังคม และมีอิสระในการทำงาน รู้จักเรียนรู้การแก้ปัญหาด้วยตัวเอง เรียนรู้ที่จะรับผิดชอบ และมีความภาคภูมิใจต่อความสำเร็จในการทำงาน จนทำให้เด็กเกิดความเชื่อมั่นและเห็นคุณค่าในตัวเอง

 การวัดประเมินผล

  ครูในชั้นเรียนจะเป็นผู้ประเมินผล โดยใช้วิธีการสังเกตและวิเคราะห์เด็กเป็นรายบุคคล ในสภาพแวดล้อมที่เป็นจริง ซึ่งครูผู้มีประสบการณ์และผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการศึกษาแบบมอนเตสซอรี่ จะมีความเชี่ยวชาญในการสังเกต จดบันทึก และวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้เรียน 

การจัดการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่

  การจัดการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่นั้น จะเน้นการจัดสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียนให้เหมือนบ้าน โดยมีคุณครูเป็นผู้ให้การสนับสนุน ให้คำปรึกษา และกระตุ้นให้เด็กคิดแก้ปัญหาด้วยตัวเอง โดยใช้จิตซึมซับกับสิ่งแวดล้อม และคำนึงถึงความสนใจความต้องการของเด็กในการเรียนรู้ ยึดความแตกต่างระหว่างบุคคล และส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างอิสระ โดยจะจัดสิ่งแวดล้อมและอุปกรณ์ให้เด็กได้ฝึกทักษะด้านกลไกผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า ที่ช่วยให้เด็กรู้จักควบคุมการทำงานด้วยตัวเอง มอนเตสซอรี่ ส่งเสริมให้เด็กได้เรียนด้วยตัวเองอย่างอิสระ

ส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง

สิ่งแวดล้อมและอุปกรณ์เป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการสอนแบบมอนเตสซอรี่ที่ช่วยให้เด็กเรียนรู้ด้วยตัวเอง จากการที่เด็กได้สัมผัสกับงานที่ได้พบเห็นในชีวิตประจำวัน และการเรียนแบบมอนเตสซอรี่นั้นต้องจัดพื้นที่ว่างสำหรับเด็กโดยเฉพาะ เพื่อที่เด็กจะได้นั่งทำงานทั้งบนเก้าอี้และบนพื้น เพราะเด็กจะได้มีส่วนร่วมและรับผิดชอบในการจัดเก็บหรือวางอุปกรณ์ให้เป็นระเบียบ อุปกรณ์ของมอนเตสซอรี่แต่ละชิ้นจะเน้นอยู่ที่การรับรู้โครงสร้างของอุปกรณ์ที่จัดไว้ โดยผ่านประสาทสัมผัสของการเคลื่อนไหว และในการจะใช้อุปกรณ์แต่ละชนิด คุณครูจะต้องเป็นผู้สาธิตการใช้อุปกรณ์ให้เด็กดูก่อน ซึ่งจะทำให้เด็กเกิดความสนใจและอยากทำกิจกรรมกับอุปกรณ์นั้น ๆ อุปกรณ์แต่ละชนิดจะมีลำดับความยาก-ง่ายต่อเนื่องกันไป ความยาก-ง่ายใน การจัดการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่ ขึ้นอยู่กับการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคน ความยาก-ง่ายในการทำกิจกรรมจะขึ้นอยู่กับการเรียนรู้ของเด็ก

หลักการที่สำคัญที่สุดของการจัดการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่ (Montessori) 

 สำหรับเด็กปฐมวัย คือ คุณครูต้องคำนึงถึงความต้องการของเด็ก ปลูกฝังให้เด็กเจริญเติบโตตามความต้องการตามธรรมชาติ และเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้อย่างอิสระ การจัดการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่ (Montessori) เชื่อว่า การที่เด็กได้เรียนรู้ตามความต้องการด้วยตัวเองและซึมซับการเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อม จะช่วยทำให้เด็กได้เรียนรู้ในสิ่งที่ต้องการ เด็กจะได้รับอิสระในขอบเขตที่ได้จัดเตรียมไว้ เมื่อเด็กได้รับผลสำเร็จตามความต้องการ จะทำให้เด็กเกิดความพึงพอใจ มีความรู้สึกที่ดีต่อตัวเองและสิ่งแวดล้อม

รูปแบบการเรียนการสอนสืบเสาะหาความรู้

กระบวนการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ (Inquiry) 5Es ประกอบด้วยขั้นตอนที่สำคัญ ดังนี้

     1. ขั้นสร้างความสนใจ (engagement) เป็นการนำเข้าสู่บทเรียนหรือเรื่องที่สนใจ ซึ่งอาจเกิดขึ้นเองจากความสงสัย หรืออาจเริ่มจากความสนใจของตัวนักเรียนเอง หรือเกิดจากการอภิปรายในกลุ่ม เรื่องที่น่าสนใจอาจมาจากเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในช่วงเวลานั้น หรือเป็นเรื่อง ที่เชื่อมโยงกับความรู้เดิมที่เพิ่งเรียนรู้มาแล้ว เป็นตัวกระตุ้นให้นักเรียนสร้างคำถาม กำหนดประเด็นที่จะศึกษาในกรณีที่ยังไม่มีประเด็นใดน่าสนใจ ครูอาจให้ศึกษาจากสื่อต่างๆ หรือเป็นผู้กระตุ้น ด้วยการเสนอประเด็นขึ้นมาก่อน แต่ไม่ควรบังคับให้นักเรียนยอมรับประเด็นหรือคำถามที่ครูกำลังสนใจเป็นเรื่องที่จะใช้ศึกษา เมื่อมีคำถามที่น่าสนใจ และนักเรียนส่วนใหญ่ยอมรับให้เป็นประเด็น   ที่ต้องการศึกษาจึงร่วมกันกำหนดขอบเขตและแจกแจงรายละเอียดของเรื่องที่จะศึกษาให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น อาจรวมทั้งการรวบรวมความรู้ประสบการณ์เดิม หรือความรู้จากแหล่งต่างๆ ที่จะ ช่วยให้นำไปสู่ความเข้าใจเรื่อง หรือประเด็นที่จะศึกษามากขึ้น และมีแนวทางที่ใช้ในการสำรวจตรวจสอบอย่างหลากหลาย

   2. ขั้นสำรวจและค้นหา (exploration) เมื่อทำความเข้าใจในประเด็นหรือคำถามที่สนใจจะศึกษาอย่างถ่องแท้แล้ว ก็มีการวางแผนกำหนดแนวทางการสำรวจตรวจสอบ ตั้งสมมติฐาน กำหนดทางเลือกที่เป็นไปได้ ลงมือปฏิบัติเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล ข้อสนเทศ หรือปรากฏการณ์ต่าง ๆ วิธีการตรวจสอบอาจทำได้หลายวิธี เช่น ทำการทดลอง ทำกิจกรรมภาคสนาม การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อช่วยสร้างสถานการณ์จำลอง (simulation) การศึกษาหาข้อมูลจากเอกสารอ้างอิงหรือจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลอย่างเพียงพอที่จะใช้ในขั้นต่อไป

  3. ขั้นอธิบายและลงข้อสรุป (explanation) เมื่อได้ข้อมูลอย่างเพียงพอจากการสำรวจตรวจสอบแล้ว จึงนำข้อมูล ข้อสนเทศที่ได้มาวิเคราะห์ แปลผล สรุปผล และนำเสนอผลที่ได้ในรูปต่างๆ เช่น บรรยายสรุป สร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ หรือวาดรูป สร้างตาราง ฯลฯ การค้นพบในขั้นนี้อาจเป็นไปได้หลายทาง เช่น สนับสนุนสมมติฐานที่ตั้งไว้โต้แย้งกับสมมติฐานที่ตั้งไว้ หรือไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ได้กำหนดไว้ แต่ผลที่ได้จะอยู่ในรูปใดก็สามารถสร้างความรู้และช่วยให้เกิดการเรียนรู้ได้

     4. ขั้นขยายความรู้ (elaboration) เป็นการนำความรู้ที่สร้างขึ้นไปเชื่อมโยงกับความรู้เดิมหรือแนวคิดที่ได้ค้นคว้าเพิ่มเติมหรือนำแบบจำลองหรือข้อสรุปที่ได้ไปใช้อธิบายสถานการณ์หรือเหตุการณ์อื่น ถ้าใช้อธิบายเรื่องต่างๆ ได้มาก็แสดงว่าข้อจำกัดน้อย ซึ่งก็จะช่วยให้เชื่อมโยงกับเรื่องต่างๆ และทำให้เกิดความรู้กว้างขวางขึ้น

     5. ขั้นประเมิน (evaluation)เป็นการประเมินการเรียนรู้ด้วยกระบวนการต่างๆ ว่านักเรียนมีความรู้อะไรบ้าง อย่างไรและมากน้อยเพียงใด จากขั้นนี้จะนำไปสู่การนำความรู้ ไปประยุกต์ใช้ในเรื่องอื่นๆ การนำความรู้หรือแบบจำลองไปใช้อธิบายหรือประยุกต์ใช้กับเหตุการณ์หรือเรื่องอื่นๆ จะนำไปสู่ข้อโต้แย้งหรือข้อจำกัดซึ่งก่อให้เป็นประเด็นหรือคำถาม หรือปัญหาที่จะต้องสำรวจตรวจสอบต่อไป ทำให้เกิดเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ จึงเรียกว่า inquiry cycle กระบวนการสืบเสาะหาความรู้จึงช่วยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ทั้งเนื้อหาหลัก และหลักการ ทฤษฎี ตลอดจนการลงมือปฏิบัติเพื่อให้ได้ความรู้ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ต่อไป

รูปแบบการเรียนการสอนแบบ Inquiry Cycles (5Es)

 นักการศึกษากลุ่ม BSCS (Biological Science Curriculum Study) ได้นำวิธีการสอนแบบ Inquiry มาใช้ในการพัฒนาหลักสูตรวิชาวิทยาศาสตร์ โดยเสนอขั้นตอนในการเรียนการสอนเป็น 5 ขั้นตอน เรียกว่า การเรียนการสอนแบบ Inquiry Cycle หรือ 5Es ได้แก่ Engage   Explore Explain Elaborate และ Evaluate กระบวนการเรียนการสอน ในแต่ละขั้นตอนการสอน ของรูปแบบการเรียนการสอนแบบ Inquiry Cycle (5Es) ซึ่งมีขอบข่ายรายละเอียด ดังนี้

1.การสร้างความสนใจ (Engage) เป็นการนำเข้าสู่บทเรียนหรือเรื่องที่สนใจ

ซึ่งอาจเกิดขึ้นเองจากความสงสัยหรือความสนใจของตัวนักเรียนเอง หรือเกิดจากการอภิปรายภายในกลุ่ม เรื่องที่น่าสนใจอาจมาจากเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในช่วงเวลานั้น หรือเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกับความรู้เดิมที่เพิ่งเรียนมารู้มาแล้วเป็นตัวกระตุ้นให้นักเรียนสร้างคำถาม กำหนดประเด็นที่จะศึกษา ในกรณีที่ยังไม่มีประเด็นใดน่าสนใจ ครูอาจะจะจัด กิจกรรมหรือสถานการณ์เพื่อกระตุ้น ยั่วยุ หรือท้าทายให้นักเรียนตื่นเต้น สงสัย อยากรู้อยากเห็น หรือขัดแย้ง เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา การศึกษา ค้นคว้า หรือการทดลอง แต่ไม่ควรบังคับให้นักเรียนยอมรับประเด็นหรือปัญหาที่ครูกำลังสนใจ เป็นเรื่องที่จะศึกษา ทำได้หลายแบบ เช่น สาธิต ทดลอง นำเสนอข้อมูล เล่าเรื่อง/เหตุการณ์  ให้ค้นคว้า/อ่านเรื่อง อภิปราย/พูดคุย สนทนา ใช้เกม ใช้สื่อ วัสดุอุปกรณ์ สร้างสถานการณ์/ปัญหาที่น่าสนใจ ที่น่าสงสัยแปลกใจ

2.การสำรวจและค้นคว้า (Explore) นักเรียนดำเนินการสำรวจ ทดลอง ค้นหาและรวบรวมข้อมูล วางแผนกำหนดการสำรวจตรวจสอบ หรือออกแบบการทดลอง ลงมือปฏิบัติ เช่น สังเกต วัด ทดลอง รวบรวมข้อมูล ข้อสนเทศ หรือปรากฏการณ์ต่างๆ

 3.การอธิบาย (Explain) นักเรียนนำข้อมูลที่ได้จากการสำรวจและค้นหา มาวิเคราะห์ แปลผล สรุปและอภิปราย พร้อมทั้งนำเสนอผลงานในรูปแบบต่างๆ ซึ่งอาจเป็นรูปวาด ตาราง แผนผัง ผลงานมีความหลากหลาย สนับสนุนสมมติฐานที่ตั้งไว้หรือโต้แย้งกับสมมติฐานที่ตั้งไว้ หรือไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่กำหนดไว้ โดยมีการอ้างอิงความรู้ประกอบการให้สมเหตุสมผล การลงข้อสรุปถูกต้องเชื่อถือได้มีเอกสารอ้างอิงและหลักฐานชัดเจน

4.การขยายความรู้ (Evaborate)

4.1 ครูจัดกิจกรรมหรือสถานการณ์ เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ลึกซึ้งขึ้น หรือขยายกรอบความคิดกว้างขึ้นหรือเชื่อมโยงความรู้เดิมสู่ความรู้ใหม่หรือนำไปสู่การศึกษาค้นคว้า ทดลอง เพิ่มขึ้น เช่น ตั้งประเด็นเพื่อให้นักเรียน ชี้แจงหรือร่วมอภิปรายแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซักถามให้นักเรียนชัดเจนหรือกระจ่างในความรู้ที่ได้หรือเชื่อมโยงความรู้ที่ได้กับความรู้เดิม

4.2 นักเรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรม เช่น อธิบายและขยายความรู้เพิ่มเติมมีความละเอียดมากขึ้น ยกสถานการณ์ ตัวอย่าง อธิบายเชื่อมโยงความรู้ที่ได้เป็นระบบและลึกซึ้งยิ่งขึ้น หรือสมบูรณ์ละเอียดขึ้นนำไปสู่ความรู้ใหม่หรือความรู้ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ประยุกต์ความรู้ที่ได้ไปใช้ในเรื่องอื่นหรือสถานการณ์อื่นๆ หรือสร้างคำถามใหม่และออกแบบการสำรวจ ค้นหา และรวบรวมเพื่อนำไปสู่การสร้างความรู้ใหม่

5.การประเมิน (Evaluate)

5.1 นักเรียนระบุสิ่งที่นักเรียนได้เรียนรู้ทั้งด้านกระบวนการและผลผลิต

5.2 นักเรียนตรวจสอบความถูกต้องของความรู้ที่ได้ เช่น วิเคราะห์วิจารณ์แลกเปลี่ยน ความรู้ซึ่งกันและกัน คิดพิจารณาให้รอบคอบทั้งกระบวนการและผลงาน อภิปราย ประเมินปรับปรุง เพิ่มเติมและสรุป ถ้ายังมีปัญหา ให้ศึกษาทบทวนใหม่อีกครั้ง อ้างอิงทฤษฎีหรือหลักการและเกณฑ์ เปรียบเทียบผลกับสมมติฐาน เปรียบเทียบความรู้ใหม่กับความรู้เดิม

5.3 นักเรียนทราบจุดเด่น จุดด้อยในการศึกษาค้นคว้า หรือทดลองการพัฒนารูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้โดยวิธีการสืบเสาะและสืบสวนหาความรู้

  วิธีการสอนแบบสืบสอบเป็นวิธีการที่ให้ผู้เรียนค้นหาความรู้ด้วยตนเอง ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และมีผู้สอนเป็นเพียงผู้อำนวยการความสะดวก ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการหาความรู้ ซึ่งผู้เรียนต้องอาศัยปัจจัยสำคัญ คือ

1. วิธีการทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Method) หมายถึง ขั้นตอนการหาความรู้โดยเริ่มตั้งแต่การระบุปัญหา การตั้งสมมติฐาน การออบแบบการทดลอง และทดลอง การเก็บรวบรวมข้อมูลการวิเคราะห์และสรุปผล

2. ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ (Science Process Skills) ซึ่งหมายถึง ทักษะการคิด ทั้งทักษะกระบวนการวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐาน และทักษะกระบวนการวิทยาศาสตร์ขั้นผสมที่ใช้ในการดำเนินการทดลอง


รูปแบบการเรียนการสอน STEM

การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวทางสะเต็มศึกษา (STEM Education)

สะเต็มศึกษา คือ แนวทางการจัดการศึกษาที่บูรณาการความรู้ใน 4 สหวิทยาการ ได้แก่ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรม เทคโนโลยี และคณิตศาสตร์ โดยเน้นการนำความรู้ไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริง รวมทั้งการพัฒนากระบวนการหรือผลผลิตใหม่ ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต และการทำงาน ช่วยนักเรียนสร้างความเชื่อมโยงระหว่าง 4 สหวิทยาการ กับชีวิตจริงและการทำงาน  การจัดการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษาเป็นการจัดการเรียนรู้ที่ไม่เน้นเพียงการท่องจำทฤษฎีหรือกฏทางวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ แต่เป็นการสร้างความเข้าใจทฤษฎีหรือกฏเหล่านั้นผ่านการปฏิบัติให้เห็นจริงควบคู่กับการพัฒนาทักษะการคิด  ตั้งคำถาม  แก้ปัญหาและการหาข้อมูลและวิเคราะห์ข้อค้นพบใหม่ๆ พร้อมทั้งสามารถนำข้อค้นพบนั้นไปใช้หรือบูรณาการกับชีวิตประจำวันได้

การจัดการเรียนรู้ตามแนวทางสะเต็มมีลักษณะ  5  ประการได้แก่ 

(1)เป็นการสอนที่เน้นการบูรณาการ 

(2)ช่วยนักเรียนสร้างความเชื่อมโยงระหว่างเนื้อหาวิชาทั้ง 4 กับชีวิตประจำวันและการทำอาชีพ  

(3) เน้นการพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21  

(4) ท้าทายความคิดของนักเรียน  และ 

(5) เปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็น และความเข้าใจที่สอดคล้องกับเนื้อหาทั้ง 4 วิชา  จุดประสงค์ของการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางสะเต็มศึกษา คือ ส่งเสริมให้ผู้เรียนรักและเห็นคุณค่าของการเรียนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์  และเห็นว่าวิชาเหล่านั้นเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สามารถนำมาใช้ได้ทุกวัน  

สะเต็มศึกษา (STEM Education) เป็นนวัตกรรมการเรียนรู้รูปแบบหนึ่งที่บูรณาการวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยี และ คณิตศาสตร์เข้าด้วยกัน ให้ผู้เรียนนำความรู้ไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริง รวมทั้งการพัฒนากระบวนการหรือผลผลิตใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพ ผ่านประสบการณ์ในการทำกิจกรรมการเรียนรู้แบบบโครงงานเป็นฐาน (Project-Based Learning) หรือ กิจกรรมการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-Based Learning)

หลักสูตรนี้จึงสร้างเพื่อให้ครูผู้สอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี และ ผู้สนใจใฝ่รู้ด้านสะเต็มศึกษา ใช้เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้สะเต็มศึกษาในโรงเรียน และสามารถพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวทางสะเต็มศึกษาเพิ่มขึ้นและมีความสอดคล้องกับบริบทและอาชีพของท้องถิ่นต่อไป

การจัดการเรียนการสอนด้วยกระบวนการสอนแบบ STEM เป็นแนวทางการสอนที่กำลังถูกพูดถึงกันมากที่สุดในยุคนี้

STEM เป็นการบูรณาการ ระหว่าง วิชาวิทยาศาสตร์ (S) เทคโนโลยี (T) คณิตศาสตร์ (M) เพื่อพัฒนานวัตกรรมผ่านกระบวนการทางวิศวกรรมศาสตร์ (E)

 โดยส่วนใหญ่จะบูรณาการทั้ง 4 วิชา ผ่านกระบวนการเรียนรู้ผ่านโครงงาน (Project-Based Learning) หรือ กระบวนการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-Based Learning)เป็นเครื่องมือในการจัดกระบวนการเรียนของผู้เรียนในการจัดกระบวนการเรียนรู้ควรคำนึงถึงลำดับขั้นการเรียนรู้ของผู้เรียนของบลูม คือ 

1)การจำ 2)ความเข้าใจ 3)การประยุกต์ใช้ 4)การวิเคราะห์ 5)การประเมินค่า 6)การสร้างสรรค์

 โดยกระบวนการจัดการเรียนการสอนทั้งหมดต้องสอดคล้องกับคุณลักษณะของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญ 3 ประการ คือ

1.ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อและเทคโนโลยี (Information Skill Media and Technology)

2.ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม (Learning and Innovation Skills)

3.ทักษะชีวิตและการทำงาน (Life and Career Skills)

รูปแบบการเรียนการสอนแบบวอลดอร์ฟ

 แนวคิดพื้นฐาน

 การเรียนการสอนแบบวอลดอร์ฟอยู่บนพื้นฐานที่ว่าการเรียนรู้ของคนเกิดจากความสมดุลของความคิด  ความรู้สึก  และเจตจำนงของคน ๆ นั้น  หากเด็กได้อยู่ในบรรยากาศแห่งความต้องการ  ความรู้สึกสบายใจ  ความผ่อนคลาย  เด็กจะถ่ายทอดความคิดและการเรียนรู้อย่างแยบคลายร่วมไปกับการทำกิจกรรมที่เขากระทำอยู่  รูดอล์ฟ  สไตเนอร์  ( Rudolf  Stiner ,  1861 – 1925 )  ได้จัดตั้งโรงเรียนวอลดอร์ฟ  ( Waldorf  School )  แห่งแรกขึ้นที่สตุทการ์ต  ประเทศเยอรมนี  เมื่อเดือนกันยายน  ค.ศ.  1919  โดยมีความเชื่อว่าการศึกษาคือการช่วยคนให้ดำเนินวิถีชีวิตแห่งตนที่ถูกต้องตามธรรมชาติ  ด้วยการให้เด็กทำกิจกรรมตามแต่ตนสนใจโดยมีครูและผู้ปกครองเป็นผู้ป้องกันเด็กจากการรบกวนของโลกสมัยใหม่และเทคโนโลยี  สิ่งที่เด็กสัมผัสต้องเป็นธรรมชาติที่บริสุทธ์

 แนวคิดของสไตเนอร์เน้นการเรียนรู้ของเด็กอย่างเป็นธรรมชาติ  เพราะสไตเนอร์เชื่อว่าเด็กสามารถพัฒนาศักยภาพแห่งตนได้ภายใต้การเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติไม่ต้องตกแต่งการสอนของครู ต้องเป็นการสร้างการเรียนรู้อย่างนุ่มนวลและแทรกซึมไปกับความรู้สึกของเด็กตามธรรมชาติโดยไม่ต้องสัมผัสกับเทคโนโลยี

หลักการสอน

 หัวใจของการเรียนการสอนแบบวอลดอร์ฟ คือการสร้างความสมดุลของจิตมนุษย์ 3 ประการ ได้แก่  ความคิด ความรู้สึก และการกระทำ โดยไม่มีการรบกวนจากเทคโนโลยีภายนอก ความสงบทางจิตใจจะช่วยให้เด็กเรียนรู้จากการใช้วินัยในตนเอง

วิธีจัดการเรียนการสอน

 การเรียนการสอนตามแบบวอลดอร์ฟเป็นวิธีการตามแบบธรรมชาติ  เป็นไปตามบรรยากาศของชุมชนและตารางกิจกรรมประจำวัน  ที่ครูและผู้เรียนจะเรียนรู้ร่วมกันตามความสนใจของเด็ก  วิธีการจัดการเรียนการสอนจะเป็นการจัดกระทำทั้งระบบตั้งแต่บรรยากาศของโรงเรียน  สิ่งแวดล้อมและห้องเรียนต้องเป็นไปตามวิถีธรรมชาติ  รวมถึงการจัดการเรียนการสอนของครู  ในขั้นตอนการสอนของครูจะมีลักษณะเฉพาะต่างจากการเรียนการสอนแบบอื่น ๆ  ตรงที่การกระตุ้นการเรียนรู้เริ่มจากการแสดงแบบให้เด็กเห็นตามบรรยากาศที่จูงใจ

การจัดสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้

 การเรียนรู้ของวอลดอร์ฟมาจากการซึมซับด้วยการสืบสานโดยตามธรรมชาติและตามธรรมชาติที่หล่อหลอมเข้าภายในตัวเด็กทั้งกายและจิตวิญญาณ  บรรยากาศการเรียนรู้รอบตัวเด็กทั้งในชั้นเรียนและนอกชั้นเรียนหรือกลางแจ้งต้องเป็นบรรยากาศที่งดงามตามธรรมชาติที่บริสุทธิ์  ประกอบด้วยความสงบและอ่อนโยน

 บทบาทครู

 ครูมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการควบคุมเรียนรู้และการใช้ชีวิตอย่างธรรมชาติของเด็ก งานของครูที่โรงเรียนคือการจัดการเรียนการสอนด้วยการเป็นตัวอย่าง การจัดสิ่งแวดล้อมที่มีบรรยากาศอบอุ่นและผ่อนคลายในขณะเดียวกันครูต้องเป็นผู้เชื่อมสานงานโรงเรียนสู่บ้านเพื่อสานภารกิจการสร้างพลังการเรียนรู้อย่างธรรมชาติให้เกิดขึ้นกับเด็ก

 ครูต้องทำหน้าที่ในการติดตามประเมินผลความเจริญก้าวหน้าของเด็กในการเรียนรู้ของเด็กเป็นรายบุคคล ครูมิใช่เป็นเพียงผู้ที่อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ แต่ครูจะถ่ายทอดความคิด ความรู้สึก  ความมุ่งมั่นและความรักอย่างแท้จริงให้กับเด็กเพื่อให้เด็กได้พบโอกาสของการพัฒนาศักยภาพภายในตนเองได้มากที่สุดและเต็มศักยภาพ

บรรยากาศภายในห้องเรียน




ประเมินตน

มีความมั่นใจในการนำเสนอหน้าชั้นเรียน มีการเตรียมตัว และเตรียมความพร้อมในการนำเสนอมาอย่างดี นำเสนอถูกใจตรงตามรูปแบบที่อาจารย์ได้บอกไว้ รู้สึกดีใจอย่างมาก

ประเมินเพื่อน

ทุกคนตั้งใจนำเสนออย่างมาก และให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี มีการเตรียมตัวและเตรียมความพร้อม
มาอย่าง นำเสนอได้น่าสนใจ

ประเมินอาจารย์

อาจารย์ให้คำแนะนำต่างๆได้ละเอียดและเข้าใจรูปแบบการสอนต่างๆเสริมความรู้เพิ่มเติม เพื่อให้นักศึกษาเข้าใจยิ่งขึ้น


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม